วันพุธ, กุมภาพันธ์ ๒๐, ๒๕๕๑

นักวิชาการจวก'สมัคร'ปิดเบือน6ตุลาฯ บันทึก'เบนเนท'คนตาย300คน


Horror in Pink (2001) - 2
ที่มาภาพ : http://www.flickr.com/photos/arthit/1998714347/

นักวิชาการจวก'สมัคร'ปิดเบือน6ตุลาฯ บันทึก'เบนเนท'คนตาย300คน

20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 01:00:00
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

"นักวิชาการ"ตั้งวงชำแหละเหตุการณ์ 14 – 6 ตุลา จวก 'สมัคร'บิดเบือน อ้าง"นิโคลัส เบนเนท"บันทึกมีคนตาย 300 คนและอีก 1,100 คนถูกจับข้อหาเป็นภัยกับสังคม เสนอชำระประวัติศาสตร์นำเป็นบทเรียนทางการเมืองไทย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้จัดเสวนา “จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือดประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท(ไม่เรียน) ของเรา” ซึ่งได้รับความสนใจจาก อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ รวมถึงสื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เรารับรู้ก็คือว่า การพยายามทำให้ประวัติศาสตร์ซึ่งควรจะเป็นบทเรียนของบ้านเมืองของเรา เป็นสิ่งซึ่งถูกทำให้คล้ายเป็นเรื่องไร้สาระ สิ่งที่รัฐได้ทำอยู่ตลอดเวลา ผู้ปกครองได้แสดงความเห็น คือการทำให้เรื่องประวัติศาสตร์ไม่น่าสนใจดีที่สุดคือให้ลืมเสีย สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่คือการเมืองภาครัฐที่ทำให้เราลืมมากกว่าทำให้เราจำ นี้คือสงครามทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา ถ้าเราไม่สามารถตกลงอะไรกับอดีตของเราได้ ตนเชื่อว่า ปัจจุบันไม่ดีอย่างที่เราเป็นและอนาคตก็คงไม่สดใส

นายชาญวิทย์ กล่าว ว่า ทางสมาคมจดหมายเหตุสยามพยายามรวบรวมเอกสารหลักฐานที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อผู้เสียชีวิต ขณะนี้มี 30 รายชื่อพร้อมทั้งรูปภาพประกอบ ภาพนักศึกษาถูกแขวนคอ และถูกตอกลิ่ม ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่ามีคนตายแค่คนเดียวอย่างที่นายสมัครระบุ

นอกจากนี้ นิโคลัส เบนเนท นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวต่างประเทศได้บันทึกไว้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา มีคนตาย 300 คน และอีก 11,000 คน ถูกจับข้อหาเป็นภัยกับสังคม ซึ่งเนื้อหาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต

ด้านนายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกาถานำ "เรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท(ไม่)เรียน” ว่า คนไทยเป็นคนที่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์สูงยิ่ง แต่ทำไมถึงมีบางคนจำประวัติศาสตร์บางเรื่องบางตอนในอดีตของตนเองไม่ได้ หรือจำได้อย่างเบลอๆ หรืออาจเรียกว่าอย่างบิดเบี้ยวไปได้ อย่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระดับนานาชาติ ของ ฯพณฯ นายกของสยามไทยว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา มีคนเคราะห์ร้ายตายไปเพียงคนเดียวเท่านั้น (ซีเอ็นเอ็น) นอกจากนี้ยังกล่าวถึงนักศึกษาที่ถูกจับไปราว 3,000 คน ต่อสำนักข่าว(อัลจาซีรา)นั้นว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำร้าย เป็นแนวประวัติศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ลึกลงไปการหลงลืมในเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่นั้น

การเคลื่อนไหวปฎิวัติวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และการปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาอย่างนองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือที่เรียกรวมว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม นั้น บอกหรือแสดงให้เราเห็นอะไรบ้าง ประการแรกคือ หากผู้นำการเมืองและสังคมจนถึงปัจจุบันยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบและเจตนารมณ์ของการลุกขึ้นประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็แสดงว่าระบบและสถาบันการเมืองอันรวมถึงบุคลากรทางการเมืองของเราด้วย มีสายตาสั้น และบิดเบือนอย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่การกระทำและการปฎิวัติทางการเมืองในระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยที่สืบทอดกันมานี้ ถึงเต็มไปด้วยความไร้สาระ และไร้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างยิ่ง

ส่วนกรณี 14 ตุลา แม้ไม่ใช่การปฎิวัติ แต่ผลจากการเคลื่อนไหวอันใหญ่โตที่มีประชามหาชนทุกชนชั้นทุกวงการเข้าร่วมอย่างกว้างขวางมากที่สุด ได้ส่งผลที่เทียบเท่ากับการปฎิวัติผลักดันระบบชีวิตการเมืองไทย ให้เข้าสู่ช่างการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เฉกเช่นทีได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป้าหมายอันสำคัญยิ่งในการลุกฮือขึ้นประท้วงและนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการถนอม ประภาส ก็คือระบบราชการที่นำไปสู่การสร้างอภิสิทธิชนและการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบ” นายธเนศ กล่าว

สามทศวรรษที่ผ่านไป รัฐและสังคมไมได้ดำเนินการคลี่คลายปมปัญหาของความขัดแย้งเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือการทำให้เหตุการณ์เดือนตุลาเป็นเรื่องราวที่สังคมและผู้คนส่วนใหญ่รับรู้ทั้งความหมายและเหตุการณ์อย่างที่มันเป็นจริงเหมือนๆกัน ไม่ใช่ยังเป็นเรื่องราวส่วนตัว หรือเป็นความทรงจำของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นความทรงจำที่ขัดแย้งกันโดยเฉพาะหากผู้กระทำยังเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐอยู่ ในขณะที่ฝ่ายผู้ที่เคยเป็นเหยื่อก็ยังอยู่ในฐานะของผู้ไร้อำนาจและความชอบธรรม ในการพูดถึงความจริง หากเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ยังไม่อาจเป็นประวัติศาสตร์ได้ และก็ยังเป็นแค่ตำนานเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะที่คนเล่าคือคนสร้างความจริง ไม่ใช่เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ

นายธเนศ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่คาใจและข้องใจคนที่รับรู้ประวัติศาสตร์เดือนตุลา ไม่ว่าจะโดยรูปแบบอะไรก็ตาม คือปัญหาว่า เมื่อไรความจริงของเหตุการณ์เดือนตุลาทั้ง 14 และ 6 ตุลา จึงจะปรากฏออกมาชัดแจ้ง และเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้เก็บบทเรียนกันอย่างจริงจังต่อไปได้ พูดได้ว่า นี้คือปัญหาของระบบการเมืองไทยด้วย ที่ไม่อาจเก็บรับและศึกษาบทเรียนจากความผิดพลาด ในอดีตของตนเองได้ ความจริง ความยุติธรรม และความเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งที่หายาก เหมือนควานหาเข็มในมหาสมุทร เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการสร้างและทำให้ประวัติศาสตร์ที่เป็นของประชาชนผู้เสียเปรียบให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปแทบไม่ได้

ต่อมา นางสาว กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านของอดีตฝ่ายซ้ายในการเมืองปัจจุบัน” ที่มหาวิทยาลัย LSE ประเทศอังกฤษกล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "6 ตุลา-บท (ที่ไม่)เรียนของสังคมไทย” ว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยและคนที่ไม่ได้ร่วมสมัย 6 ตุลา เติบโตและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาแบบขาดๆเกินๆ เมื่อเริ่มเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ของเขตความเข้าใจที่คนส่วนใหญ่จะไปได้ถึง คือ ภาพการต่อสู้ระหว่างนักศึกษาก้าวหน้าและฝ่ายซ้าย ผู้รักประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจและความรุนแรงของฝ่ายรัฐและฝ่ายขวา มันเป็นภาพการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเสี้ยวเดียวของการเข้าใจ 6 ตุลา ที่แท้จริง แล้วเมื่อเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป ตัวแสดงต่างๆ ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา เปลี่ยนบทบาท และโฉมหน้าไปแล้ว สังคมและการเมืองต่างก็ซับซ้อนขึ้น การเข้าใจ 6 ตุลายิ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับสังคมโดยรวมและคนรุ่นต่อๆมา

นางสาวกนกรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากฟูมฟายถึงความยากและซับซ้อนของกระบวนการสร้างบทเรียน 6 ตุลาให้กับสังคมแล้ว สิ่งที่ตนพยายามจะทำ ในเวลาสั้นๆที่เหลือ คือ การพยายามตอบคำถามที่ว่า ทำไมประวัติศาสตร์ 6 ตุลาจึงกลายเป็น บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย ผ่านปรากฏการณ์วิวาทะระหว่าง คุณสมัครกับแรงต้าน และความไม่พอใจที่มีต่อสิ่งที่คุณสมัครพูด

คำตอบเบื้องต้นต่อคำถามหลักนี้ มี 3 เรื่องใหญ่ๆที่โยงกันอยู่คือ ประเด็นที่หนึ่ง การสังคายนาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาเป็นเรื่องยากมาก ทั้งในแง่การกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งขาดกระบวนการค้นหาและและความกล้าในการพูดถึงความจริงของ 6 ตุลาที่มากไปกว่าความรุนแรงและจำนวนตัวเลขคนตาย และในแง่ของกระบวนการต่อสู้เชิงอำนาจในการสร้างการรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ภาคประชาชนของไทย ประเด็นที่สอง ในเงื่อนไขการเมืองปัจจุบัน ทำให้สังคมยากที่จะเชื่อมโยง ประวัตศาสตร์ที่ไม่ชัดเจน กับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้มีส่วนร่วมและบทบาทใน เหตุการณ์ 6 ตุลา ประเด็นที่สาม การใช้วิวาทะทางประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

นางสาวกนกรัตน์ ระบุว่า เราต้องยอมรับความจริงว่า การเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยของสังคมไทย เป็นเรื่องใหม่มาก เราไม่ได้กำลังพูดถึงการเรียนการศึกษาในระบบ โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่หมายถึงกระบวนการเขียน การเข้าถึง และการผลักดันประวัติศาสตร์เข้าสู่การรับรู้ของผู้คน ที่ผ่านมาการเขียน เนื้อหา และช่องทางในการผลักดันการรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าขุนมูลนาย นักการเมือง หรือ ผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจ

เพราะการเขียนประวัติศาสตร์ภาคประชาชน คือ กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ประวัติศาสตร์ทั้งโลกถูกเขียนถูกครอบโดยชนชั้นนำ และอำนาจในการสร้างประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำเพื่อกดทับความจริงในสังคม การให้ได้มาซึ่งประวัติศาสตร์ภาคประชาชนนั้น ซึ่งสำหรับสังคมไทยเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจไม่ได้ว่า ทำไมการเขียนประวัติศาสตร์ 6 ตุลา จึงยังอยู่ในระยะตั้งไข่

“ สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากความกล้าหาญในการลุกขึ้นมาแย้งความไม่จริงของสิ่งที่คุณสมัครพูดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยตัวและความรุนแรงแล้ว ความกล้าในการอ้าปากพูดถึงประวัติศาสตร์ของตนเของของอดีตนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาให้ไปไกลว่าเรื่องของคนตายและความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยรัฐ “ นางสาวกนกรัตน์ ระบุ

นางสาวกนกรัตน์ กล่าวอีกว่า เราต้องยอมรับการเสียที่ว่า 6 ตุลา คือ การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ว่า ตนเองเคย เรียนรู้ เคยเชื่อ และมีปฏิบัติการทางการเมืองผ่านอุดมการณ์แบบ ขวา ซ้าย แต่นั้นคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้น กับพวกเขา หลังการปราบปราม ทุกฝ่ายต่างเต็มไปด้วยบาดแผล การกลับมายืนอีกครั้งในสังคมที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้ทุกฝ่ายไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะอดีตฝ่ายซ้าย แม้แต่ฝ่ายขวาอย่างคุณสมัครเอง พยายามหลีกเลี่ยงและสร้างตัวตนใหม่ ความชอบธรรมใหม่ๆทางการเมือง เพื่อเจือจาง ภาพประวัติศาสตร์ในอดีตเขา การจะง้างปากให้คนเล่านี้พูดถึงความจริง เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

อดีตนักศึกษา เองก็ต้องเผชิญกับความอิหลักอิเหลื่อในการพูดถึงตนตนของพวกเขาเองในอดีต เพราะในสังคมแบบนี้มีพื้นที่ให้กับพวกเขาน้อยมาก ความไม่แน่ใจต่อ การยอมรับที่สังคมมีต่อประวัติศาสตร์ของพวกเขา ทำให้พวกเขาเองลดทอนความจริงทางประวัติศาสตร์ที่พวกเค้าพยายามจะสร้าง

การพูดถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของ การต่อสู้ของนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ซึ่งต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม กับการใช้ความรุนแรงของรัฐ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม การพูดถึงประวัติศาสตร์ ไม่เคยไปไกล กว่า ใครทำอะไรที่ไหน จำนวนคนตาย รูปแบบการใช้ความรุนแรงของรัฐ แต่คำถามว่าจริงๆอะไรที่นำมาสู่การก่อตัวของ 6 ตุลา

แน่นอนว่า มีอาจารย์ และนักวิชาการหลายท่านพยายามเขียนงานวิเคราะห์ที่มีพลังต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ที่ไม่ใช่เรื่องของงานวิชาการแต่เรากำลังพูดถึงกระบวนการเขียนและการรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องสร้างขึ้นโดย การมีส่วนร่วมของคนมากมายในสังคม

“ประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉันในการทำงานวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนผ่านของอดีตฝ่ายซ้ายในการเมือง ปัจจุบัน ดิฉัน เจอ ปัญหามากมายในการเชื้อเชิญให้อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้าย ถ่ายทอดเรื่องราวจริงๆ ของพวกเค้า เกือบทุกคนที่ดิฉันคุยด้วย ต้องเริ่มต้นจากการประเมินท่าทีของดิฉันว่าเป็นใคร มาจากไหน ยอมรับเค้าได้หรือเปล่า ดิฉันต้องสร้างความไว้วางใจจากคนเหล่านี้ ก่อนที่เค้าจะยอมเล่าเรื่องราวของพวกเค้า แต่เมื่อเครื่องติดแล้ว ทุกคนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่หาอ่านไม่ได้ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่ไหน แต่นั้นสะท้อนอะไร มันสะท้อน ว่าเรื่องราวก่อน 6 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา และผลกระทบของ 6 ตุลา ยังคงเป็นเรื่องปิดที่พูดคุยกันในเฉพาะกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ” ดิฉันว่าเราต้องเลิกพูดกันได้แล้วว่า ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ลงตัว เราต้องเลิกโทษนักศึกษา เด็กรุ่นใหม่เสียที ถึงประเด็น 16 ตุลา ใครจะไปรู้ ใครจะไปเข้าใจในเมื่อ จริงๆ ไม่มีอะไรให้เค้าเข้าใจ ไม่อยากจะพูดว่าแม้แต่ตัวดิฉันเอง ถ้าไม่ได้มาทำงานเรื่องนี้ สนใจเรื่องนี้ นั่งไล่ อ่านงานเรื่อง 6 ตุลาซึ่งมีอยู่กระจัดกระจาย ก็ ยากที่จะเข้าใจว่า ความจริงคืออะไร” อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามนักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ที่เป็นปัญหา และที่มาของการทำให้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาไม่เป็นบทเรียนสังคมไทยคือ กระบวนการเขียนประวัติศาสตร์มันจะมีปัญหาในตัวมันเองแล้ว ในเงื่อนไขการเมืองปัจจุบัน ที่อดีตตัวแสดงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ได้เปลี่ยนแปลงสถานะภาพบทบาททางการเมือง ไปแล้ว ทำให้เป็นเรื่องยากที่สังคมจะเชื่อมโยงและเข้าใจ และยอมรับที่จะเรียนรู้บทเรียน 6 ตุลา ภายใต้เงื่อนไขและกระแสที่โลกทั้งโลกถูกบังคับให้เชื่อและยอมรับเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง อดีตฝ่ายขวาปรับตัวและกลับมาสร้างความชอบธรรมฝ่ายกระบวนการเลือกตั้ง กรณีคุณสมัครเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก ใครว่าคุณสมัครยังเหมือนเดิม อดีตฝ่ายขวา ปรับตัวได้ดีมากกลับเงื่อนไขการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เขากลับเข้ามาใช้กระบวนการเลือกตั้ง เป็นบันไดในการกลับมามีบทบาทและสถานะทางการเมือง

“ สิ่งที่คุณสมัครอาจจะไม่เปลี่ยน คือ การใช้ยุทธศาสตร์ propaganda อย่าเพิ่งเข้าใจผิด propaganda ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า โกหก ความหมายของ propaganda ที่แปลว่า โกหกเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ หลังสังคมครามโลกครั้งที่สอง ในช่วง Nazi แพ้สงคราม ก่อนหน้านี้ propaganda หมายถึงการเผยแพร่ ความเชื่อ แต่หนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเผยแพร่ความเชื่อ คือ If you have to lie, you have to give the big one คือ ถ้าคุณต้อง โกหก คุณต้องโกหกคำโต และยืนยันสิ่งที่คุณพูดอย่างหนักแน่น” นักวิชาการผู้นี้กล่าว

นางสาวกนกรัตน์ กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะเพียงฝ่ายขวาที่เปลี่ยนแปลงไป อดีตฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายซ้ายหลายต่อหลายคนเข้าไปทำงานร่วมกับอดีตฝ่ายขวา ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งที่เชื่อว่าตนเองยังคงรักษาจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง คือ ไม่ยอมรับอดีตฝ่ายขวา และยังคงต่อสู้กับการสถาปนาอำนาจของการเมืองแบบชนชั้นนำ หรือ Elite Politics คนเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนมโนทรรศน์ที่สังคมมีต่อเขา ด้วยภาพที่ซ้อนทับกันของ 14 ตุลาและ 6 ตุลา การชูธงประชาธิปไตย การไฮไลประเด็น “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” หรือ “คนเดือนตุลา” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คน 6 ตุลาประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่เล็กๆในการดำรงฐานทางการเมืองของพวกเขา

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าท่ามกลางเงื่อนไขประวัติศาสตร์ 6 ตุลาที่ไม่เคยได้รับการชำระ เนื้อหาที่ไม่เคยไปไกล กว่าความรุนแรงบนท้องถนน และจำนวนคนผู้เสียชีวิต ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายของคนกลุ่มต่างๆ จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่สังคมจะสามารถและทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้นการถามถึงบทเรียน และบทที่ไม่เรียนของ 6 ตุลา สำหรับตนเองจึงเป็นโจทย์ที่ยากมาก และประเด็นที่สุดท้าย พยายาม พาพวกเรากลับมาสู่ ปรากฎการณ์วิวาทะระหว่าง คุณสมัครกับแรงต้าน และความไม่พอใจที่มีต่อสิ่งที่คุณสมัครพูด

“ ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งถ้าการลุกขึ้นมาทักท้วงเรื่องสิ่งที่คุณสมัครพูดเป็นความพยายามและจะสามารถจุดประกายให้เกิดการสังคยนาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาอย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปสู่ย่างก้าวในการสร้างและนำไปสู่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ในวงกว้าง แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ปรากฎขึ้น คือ ข้อถกเถียงจำกัดอยู่ที่ เรื่องของ จำนวนผู้เสียชีวิต ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลา หรือ การสร้างภาพความเชื่อมโยงการกลับมาของ 6 ตุลาในเงื่อนไขการเมืองโดยมอง 6 ตุลาเป็นเพื่อเรื่องประวัติศาสตร์ แห่งความรุนแรง เพราะสิ่งที่สื่อ และอดีตผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา แย้งต่อคุณสมัครนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้สูญญากาศที่มีเฉพาะความไม่พอใจต่อสิ่งที่คุณสมัครพูด แต่มันเกิดขึ้นท่ามกลาง การสนับสนุน-ต่อสู้ ระบอบทักษิณ การปฏิเสธการยอมรับการรัฐประหาร 19 กันยา การพอใจและเบื่อหน่ายทางการเมืองภายใต้รัฐบาลคุณสมัครที่กึ่งยอมรับความเป็น รัฐบาลนอมินีของคุณทักษิณ” นางสาวกนกรัตน์ กล่าว

นางสาวกนกรัตน์ กล่าวว่า การขึ้นมาของคุณสมัคร เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า แม้แต่อดีตนักศึกษา 6 ตุลา ทั้งที่เชียร์ อยู่ร่วมกับคุณทักษิณ ก็กระอักกระอ่วน เพราะฉะนั้นสำหรับกลุ่มอดีตนักศึกษาในปีกต้านคุณทักษิณ ไม่ต้องพูดถึง ความพลาดของคุณสมัครในการพูดเรื่องจำนวนคนตาย กลายเป็นเรื่องที่ช่วยให้กระบวนการแซะรัฐบาลคุณสมัครเริ่มต้นขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก เรื่อง 6 ตุลา กลายเป็น Hot issue นอกฤดูกาล เดือนตุลา แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาคือ ถ้าการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ กลายเป็นเพียงยุทธศาสตร์ ที่รองรับการต่อสู้ทางการเมือง ในปัจจุบัน สังคมคงจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจาก 6 ตุลา
.............................................................................
พุธ 20
กุมภา 51

ไม่มีความคิดเห็น: