วันจันทร์, กุมภาพันธ์ ๑๘, ๒๕๕๑

นิสิตจุฬาฯ ภาคประวัติศาสตร์ จี้หมัก ‘หยุดบิดเบือน’ 6 ตุลาฯ


ที่มาภาพ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E:Oct06-08.jpg

ประชาไท เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 นิสิตจำนวนหนึ่งของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวมตัวกัน ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ยุติการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยอ้างถึงการที่นายสมัครให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งนายสมัครระบุว่า ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีเพียงแค่คนเดียว

จากกรณีดังกล่าว ทำให้กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท้วงติงต่อผู้นำรัฐบาลคนใหม่ให้กลับไปศึกษาข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ตามสื่อต่างๆ ทั้งของประเทศไทยและต่างชาติ จะเห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตมีมากกว่าหนึ่งคน แม้แต่รายงานของทางรัฐก็ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 46 คน

การให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อาจเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนรุ่นใหม่ จึงเรียกร้องให้นายสมัครยุติการบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว ไมว่านายสมัครจะตั้งใจหรือไม่ พร้อมกันนี้ ในแถลงการณ์ฯ ได้ระบุว่า สังคมไทยควรยอมรับความจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้กิดขึ้น และยังไม่มีความกระจ่างแต่อย่างใดว่าใครคือผู้มีอำนาจสั่งการและทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้น กลุ่มนิสิตฯ ได้กล่าวด้วยว่า หากสังคมไทยยุติการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ จะช่วยให้การสรุปบทเรียนแก่คนรุ่นหลังเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ กลุ่มนิสิตฯ ได้ยืนยันว่า การออกมาเรียกร้องท้วงติงนายสมัครในครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองแต่อย่างใด เพียงหวังว่าการผลักดันให้เกิดการรื้อฟื้นและสืบสวนเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างเปิดเผย จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการจากเหตุการณ์ดังกล่าวสู่สังคมไทย และอย่างมากที่สุดก็เพื่อ นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


แถลงการณ์ กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอเรียกร้องให้ยุติการบิดเบือนประวัติศาสตร์ 6 ตุลา


จากการที่ นาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา และได้มีข้อความบางตอนที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์การสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่นายสมัครย้ำว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ทาง กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้:

1. กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ ขอท้วงติง นาย สมัคร สุนทรเวช ที่ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นผิดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน เพราะแม้แต่ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา ของทางการซึ่งประเมินไว้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสภาพความเป็นจริง ก็ยังระบุไว้ว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 46 คน ประกอบกับหลักฐานต่างๆ จำนวนมาก เช่น ภาพถ่าย และบันทึกเทปโทรทัศน์ ได้แสดงภาพเหยื่อของการสังหารหมู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้มากมาย แม้แต่ภาพถ่ายซึ่งชนะรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี พ.ศ. 2520 ก็ยังบันทึกภาพผู้เสียชีวิตไว้จำนวนมากเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่คนเดียวตามที่นายสมัครได้กล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า นายสมัคร จะบังเอิญ หรือเจตนาจงใจให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ทาง กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ จึงขอเสนอแนะให้ นาย สมัคร สุนทรเวช ได้ทบทวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา อีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว เพื่อในภายภาคหน้าจะได้ไม่มีการพูดถึงกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม อย่างคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอีก

2. กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ ขอถือโอกาสนี้ เรียกร้องให้สังคมไทย ยุติการปิดกั้นข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แต่หันมายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพื่อหาข้อสรุปสำหรับเป็นบทเรียนแก่ชนรุ่นหลังอย่างตรงไปตรงมา หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะได้เป็นการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และยุติความพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการสังหารหมู่ในวันดังกล่าวมากกว่า ดังนั้น ทางกลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ จึงอยากเรียกร้องให้สังคมไทยเปิดโอกาสทางการศึกษาและเผยแพร่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 6 ตุลา แก่ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวางด้วยวิธีต่างๆ เช่น การรณรงค์ การจัดทำสารคดี และการบรรจุลงในแบบเรียน เป็นต้น อย่าให้เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเพียงชื่อวันหนึ่งซึ่งรู้จักกันอย่างผิวเผินอีกต่อไป

3. กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ เห็นว่า ถึงแม้ นาย สมัคร สุนทรเวชจะให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจถึงกรณีจำนวนผู้เสียชีวิตจริงในเหตุการณ์ดังกล่าว ทว่า นายสมัครมิได้เป็นผู้มีอำนาจสั่งการที่แท้จริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาแต่อย่างใด
และหากสังคมไทยยังคงปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไร้การตรวจสอบและศึกษาต่อไป ทั้งจากภาครัฐและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง ก็จะทำให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สูญเสียสิทธิในการมีชีวิตอยู่ไปอย่างไร้ความหมาย ขณะเดียวกันก็ไม่มีผู้ใดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดๆ ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่หายไปพร้อมๆ กับความทรงจำของคนร่วมสมัยเพียงเท่านั้น

ดังนั้น กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ จึงเห็นสมควรให้มีการสืบสวนเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างเปิดเผย อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการจากเหตุการณ์ดังกล่าวสู่สังคมไทย และอย่างมากที่สุดก็เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

4. กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ เข้าใจดีถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน จึงขอยืนยันอย่างชัดเจนว่า ทางกลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ มิได้มีเจตนาต่อต้านนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด เนื่องจากนายสมัคร เป็นบุคคลที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้เลือกแล้วจึงมีความชอบธรรมแน่นอน แต่ขอประกาศเจตนารมณ์ ณ ที่นี้ด้วยว่า การรณรงค์ในประเด็นเหตุการณ์ 6 ตุลา นี้ต่อไปในอนาคต ไม่ควรเป็นไปเพื่อสนองผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่จะต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อความถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างธรรมเท่านั้น

ด้วยข้อเรียกร้องทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ทางกลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งในประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถมีส่วนร่วมในการศึกษาเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ เชื่อมั่นว่า ความจริงในประวัติศาสตร์ มิได้หมายถึงความผิดพลาดหรือความถูกผิดใดๆ หากแต่หมายถึงเหตุการณ์ที่ต้องได้รับโอกาสในการศึกษาตามหลักวิชาการอย่างกว้างขวางในสังคม

กลุ่มนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แถลง ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551

รายนามท้ายแถลงการณ์

น.ส. จริมา อุปรานุเคราะห์
นาย ภานุพันธ์ นาคสุวรรณ
น.ส. วรินทร์ สุมนพันธุ์
น.ส. ชฎาพร เทพปิยะวงศ์
น.ส. อรพรรณ ตาทา
น.ส. ภิญญุดา ตันเจริญ
นาย ธีรนัย จารุวัสตร์
น.ส. หงสพรรณ สมบูรณ์
น.ส. อารยา ภาคภูมิเกียรติคุณ
น.ส. วริศา ตั้งค้าวาณิช
น.ส. นรีวิสุทธิ์ เต็มชุ่ม
น.ส. เพชรรัตน์ พรหมนาภา
น.ส. สุชญา ปรีชาชนะชัย
นาย สุพลธัช เตชาบูรณา
นาย ชญานิน ประวิชไพบูลย์
น.ส. น้องนุช ก๋งม้า
น.ส. จุติพร จรูญเรืองฤทธิ์
.........................................

ไม่มีความคิดเห็น: