วันอังคาร, มกราคม ๐๘, ๒๕๕๑

สรุปงาน เดือนตุลากับมหา'ลัยเชียงใหม่ 2550-2551


ปกหนังสือ จดหมายเหตุความเคลื่อนไหวนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่เก็บรวบรวมข้อมูลค้นคว้าเบื้องต้นจากงานครั้งนี้

ขอเริ่มต้นด้วยบทกิตติกรรมประกาศของหนังสือ จดหมายเหตุความเคลื่อนไหวนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เส้นทางอันยาวไกลของมนุษยชาติ ล้วนมิได้มาจากการบุกเบิกของคนกลุ่มน้อย หากยังมีความพยายาม มานะบุกบั่นทั้งมหาบุรุษ และคนตัวเล็กตัวน้อยที่ร่วมเป็นกระแสการเดินทางนี้ทั้งนั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บุคคลไม่สำคัญ มักมิได้ถูกจารลงในหน้าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะแผ่นดินไทย ที่เหลือพื้นที่ให้บุคคลไม่กี่จำพวก มิต้องกล่าวถึงบางยุคสมัยที่ทนความเห็นที่แตกแยกไปจากคำอธิบายของตน ถูกตัดสินให้เป็น สิ่งต้องห้าม ไปเสีย หรือการจำกัดอิสรภาพทางความคิด การกำจัดอิสรภาพทางวิญญาณ

ในที่นี้ ความคิดริเริ่มเกิดขึ้นจากห้องเรียนระดับปริญญาโทเล็กๆไม่กี่ที่นั่ง ที่มีอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์เป็นผู้สอน เมื่อคุยถึงสภาวการณ์เดือนตุลา ชวนให้ตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วง 14 ตุลา 16 ว่ามีพลังและสร้างผลกระทบมากน้อยเท่าใด และเป็นที่น่าตกใจว่า เมื่อลองไปค้นดูตามแหล่งข้อมูลอย่างสำนักหอสมุด ห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์ หรือที่อื่นๆ ไม่สามารถจะหาข้อมูลอ้างอิงในเชิงลายลักษณ์อักษรได้ ราวกับว่า ประวัติศาสตร์ช่วงตุลาของนักศึกษาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถูกทำให้ลืม ไปเสียสิ้น

ภายใต้บรรยากาศสังคมการเมืองปัจจุบันที่ แม้จะไม่ใกล้เคียงกับความรุนแรงหลัง 6 ตุลา 19 แต่สิทธิเสรีภาพ ถูกทำให้ตายด้าน และใช้วาทะศีลธรรมอันดี กล่าวอ้างอย่างบ่อยครั้งเพื่อกำราบสังคม และคนที่ด้อยโอกาสกว่า ยิ่งกระตุ้นทำให้เรารู้สึก
อยากรู้ อยากเห็น มากขึ้น ในรอยต่อแห่งยุคสมัยที่ความคิด ความเชื่อ ค่านิยมปริแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

วงความคิดขยายออกไปเรื่อยๆ อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์มอบวิทยานิพนธ์ที่อ้างถึงความเคลื่อนไหวนักศึกษาภาคเหนือ พร้อมแนะนำให้ติดต่อป้าวิ อดีตนักศึกษามช.

ป้าวิก็นำเรากระโจนเข้าสู่โลกของเอกสารร่วมสมัยยุคดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ บันทึกการประชุม หนังสืออนุสรณ์งานศพ ชุดนิทรรศการ เพลงเดือนตุลา มิพักที่จะกล่าวน้ำใจอันท่วมท้นบ้านครูองุ่น บ้านริมน้ำแถวๆประตูไผ่ล้อม การติดต่อรุ่นพี่เก่าๆ เช่น คุณ
ชมพูนุช โทสินธิติ คุณธีรชัย มฤคพิทักษ์ ก็ผ่านสายสัมพันธ์ตรงนี้เอง

ขณะที่ น้องทิฆัมพร รอดขันเมือง แห่งคณะนิติศาสตร์ ก็พาเราไปพูดคุยกับ อาจารย์
วัฒนา สุกัณศีล แห่งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มช. ในฐานะนักศึกษามช.ร่วมสมัยรุ่น 14 ตุลา 16 ภาพต่างๆค่อยๆรวมเป็นกลุ่มก้อนสีสัน เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกที และถูกผลักดันให้เป็นจริงโดยงบประมาณภาควิชาประวัติศาสตร์ ที่มีอาจารย์เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช เป็นหัวหน้าภาควิชา ทั้งยังได้รับการดูแลอย่างดีจากพี่กันยา เทพอุด พี่สุพิน โพธินาม

ทีมทำงานที่เข้มแข็งตั้งแต่กองบรรณาธิการสนามเพาะ ทีมบรรณารักษ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ทีมจัดนิทรรศการ ซึ่งรวมไปถึงนักศึกษาประวัติศาสตร์ แม้แต่ทีมข่าวประชาไทที่เอื้อเฟื้อการเผยแพร่สู่สาธารณะ และภาพความเคลื่อนไหวช่วง 14 ตุลา 16 ที่เชียงใหม่ ดังปรากฏภาพบางส่วนในเอกสารนี้แล้ว และที่ขาดมิได้คือ ผองมิตรทั้งหลาย มีจำนวนมากที่มิอาจเอ่ยชื่อทั้งหมดในหน้ากระดาษแห่งนี้ ช่วยลงมือ ลงแรง ให้กำลังใจตั้งแต่วันเริ่มงาน.


การจัดนิทรรศการ
เดือนตุลากับมหาลัยเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ วันที่ 26-30 พฤศจิกายน 2550 และมีในเสวนา เดือนตุลา กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ ความหมายในวันนี้ โดย อ.วัฒนา สุกัณศีล อ.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช และคุณธีรชัย มฤคพิทักษ์ วันที่ 28 พฤศจิกายน เสวนา จาก 14 ถึง 6 ตุลา : สองชาตินิยมชนกัน โดย อ.เกษียร เตชะพีระ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 ต่อมาล่าสุดคือ เสวนา คำถามที่เราไม่ค่อยถามเกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทย โดย อ.ธงชัย วินิจจะกูล เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2551 ซึ่งโดยตัวของการเสวนาแต่ละครั้งเองก็สิ้นสุดลงโดยตัวของมัน แต่เป้าหมายที่เรามุ่งหวังก็คือ การสร้างบรรยากาศภายในสถานศึกษาแห่งนี้ โดยใช้มิติทางประวัติศาสตร์ให้เราได้ย้อนกลับไปมอง และหากมีศักยภาพพอก็จะหันมาพิจารณาสภาพที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้กันต่อ และจะว่าไปเนื่องในงานเสวนาดังกล่าว ที่ลืมมิได้ก็คือ เพื่อนนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและการเสวนาในสองครั้งหลังอย่างเต็มที่

ในเบื้องต้นทีมงานผู้จัดจะพยายามรวบรวมข้อมูล ไฟล์เสียงต่างๆ และหาโอกาสเผยแพร่สู่สาธารณะในลำดับต่อไป เช่นเดียวกับการจัดทำเอกสาร สนามเพาะ ที่ได้รับความสะดวกจากภาควิชาประวัติศาสตร์ในการส่งไปยังห้องสมุดของคณะวิชาต่างๆ ทั่วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่นเดียวกับการดำเนินการกับ จดหมายเหตุความเคลื่อนไหวนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ในเบื้องต้นในงบประมาณจำกัดจึงจัดทำได้ไม่มากชุดนัก จึงตัดสินใจส่งไปห้องสมุด 2 แห่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ สำนักหอสมุด และห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์ ด้วยเห็นว่าเอกสารดังกล่าว หากได้จัดเข้าไปอยู่ในระบบ น่าจะมีความสะดวกในการค้นคว้าต่อไป ในฐานะเอกสารสาธารณะ ไม่ใช่เอกสารเฉพาะทางที่เก็บอยู่กับตัวบุคคลเท่านั้น

แต่กระนั้นงานที่สำเร็จมาได้ทั้งหมดก็ผ่านเส้นทางมาหลากหลาย ทั้งที่ถูก ผิด หลงทาง และเข้าเป้า อีกหนึ่ง
กรรม”ที่ผู้จัดเห็นว่าบกพร่องอย่างสูงก็คือ การผิดพลาดในการติดต่อประสานงานภายใน และละเลยผู้ร่วมงานบางส่วนไป ความรับผิดชอบดังกล่าวจึงมิได้เกี่ยวข้องกับรายนามน้ำใจเบื้องต้นที่ข้าพเจ้าเอ่ยถึง

ข้าพเจ้าในฐานะผู้ติดต่อประสานงานหลักจึงขอน้อมรับแต่เพียงผู้เดียว.


ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ตัวแทนกลุ่มเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ

อังคาร 8

มกรา 50

ไม่มีความคิดเห็น: