วันอังคาร, มกราคม ๐๘, ๒๕๕๑

"ปรับขึ้นแวตจาก7เป็น10%" ข่าวร้ายจาก ไทยรัฐ

[7 ม.ค. 51 - 04:45]

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ในปีนี้กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ของรายได้ เหลือ 25% พร้อมกับยกเลิกเพดานสูงสุดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ใช้สูงสุดไม่เกิน 37% เหลือสูงสุดไม่เกิน 30% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแลกกับการขึ้นอัตราภาษีมูลค่า (แวต) จาก 7% เป็น 8% ในขั้นแรก และจะปรับเพิ่มขึ้นจนสูงสุดไม่เกิน 10% ในขั้นต่อๆ ไป โดยไม่นำเงื่อนไขของระยะเวลามาเป็นตัวกำหนด แต่จะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และลดต้นทุนให้บริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่ในไทย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งสำคัญคือ มาเลเซียซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 27% จะปรับลดลงเหลือ 26% ในปีนี้ ขณะที่สิงคโปร์เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% มีเป้าหมายที่จะลดลงเหลือ 19% ในปีนี้ และในปีหน้าเหลือ 18% เพื่อให้ผู้ประกอบการของตัวเองกับผู้ประกอบการที่ตั้งบริษัทในฮ่องกงได้ เนื่องจากปัจจุบันฮ่องกงเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 17.5% เท่านั้น

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นปัจจุบันบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกินกว่า 4 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 37% ซึ่งมีปริมาณเพียง 1% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด 6-7 ล้านคน แต่หากเปรียบเทียบเป็นเม็ดเงินแล้วสูงถึง 34% ของรายได้ จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 215,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 30% ซึ่งมีปริมาณ 2% ของจำนวนผู้เสียภาษี แต่หากเปรียบเทียบเป็นเม็ดเงินแล้วสูงถึง 34%

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดที่จะยกเลิกอัตราภาษีสูงสุด 37% โดยกำหนดวงเงินของรายได้ใหม่คือ ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 30% ซึ่งแน่นอนว่าคนรวยที่มีรายได้มากๆ จะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง แต่หากมองในแง่ของการสูญเสียรายได้ของกรมสรรพากรแล้วกลับมีเพียงเล็กน้อย เพราะอัตราภาษีที่หายไปมีเพียง 7% เท่านั้น

ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาทลงไป จะมีการแบ่งวงเงินของรายได้ใหม่ ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีกำหนดให้ผู้มีรายได้ 0 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ยกเว้นภาษี, รายได้ 100,001 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เสียภาษี 10%, รายได้ 500,001 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเสียภาษี 20% อาจจะปรับวงเงินใหม่ เช่น มีรายได้ 0 บาท แต่ไม่เกิน 170,000-180,000 บาท ยกเว้นภาษี พร้อมกับเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆให้มากขึ้นไปอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากที่มีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดาแล้วกระทรวงการคลังจะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ 7% เป็นสูงสุดไม่เกิน 10% โดยมีเงื่อนไขว่าจะปรับขึ้นครั้งละ 1% ตามความเหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหากปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่า 1% จะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปสูงที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้รัฐบาลใหม่นำโครงสร้างภาษีใหม่มาใช้ในปีนี้.

http://www.thairath.com/news.php?section=economic&content=74286


ดูตัวอย่างการแสดงความคิดในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน
http://www.getmorestudio.com/samesky/index.php?showtopic=83
....................
อังคาร 8
มกรา 50

ไม่มีความคิดเห็น: